ประวัติวัดนาคปรก
สถานภาพ | อาณาเขต :
วัดนาคปรก มีสถานะเป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๙๙ ถนนเทอดไท ซอย ๔๙ แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร มีเนื้อ ๑๓ ไร่ ๑ งาน ๖๔ ตารางวา มีอาณาเขตดังนี้
ทิศตะวันออกจรดกับวัดนางชีโชติการาม
ทิศตะวันตกจรดกับโรงเรียนวัดนาคปรก
ทิศเหนือจรดกับคลองวัดนาคปรก
ทิศใต้จรดกับคลองบางหว้า
วัดนาคปรกได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. ๒๒๙๑ โดยเป็นวัดที่สร้างขึ้นก่อนพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ (หนังสือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ ๐๐๐๓/๗๑๗๕ ลงวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๑ เรื่องขอรับรองสภาพวัด) อาณาเขตวิสุงคามสีมา มีขนาดความกว้าง ๔๘.๖๐ เมตร ความยาว ๕๐.๗๐ เมตร กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียน “วัดนาคปรก” เป็นโบราณสถาน ตั้งแต่วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๒๐ ในปัจจุบัน มีพระกิตติโสภณวิเทศ (เศรษฐกิจ สมาหิโต) เป็นเจ้าอาวาส
ความเป็นมา | การสร้างวัด :
วัดนาคปรก มีอายุเก่าแก่เกือบ ๓๐๐ ปี แต่เดิมชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดปก” เนื่องจากตั้งอยู่กลางสวนป่าที่ปกคลุมไว้ สันนิษฐานการสร้างวัดว่า ประชาชนชาวบ้านในชุมชนร่วมกันสร้างขึ้น ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ราวปี พ.ศ. ๒๒๙๑ หรือก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ เพียง ๑๙ ปี และสืบเนื่องจากภาวะทางสงคราม ประชาชนต่างพากันเดือดร้อนและต้องหลบหนีลี้ภัย เป็นเหตุให้วัดปกถูกทิ้งร้างเป็นเวลานาน มีสภาพที่เสื่อมโทรม ให้เห็นเพียงอุโบสถและวิหารที่เหลือแต่หลังคาและฝาผนังเท่านั้น
การบูรณะปฏิิสังขรณ์ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น :
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๓ “เจ้าสัวพุก” พ่อค้าคหบดีเชื้อสายจีน (ต่อมาดำรงตำแหน่งเป็น พระยาโชฏึกราชเศรษฐี (พุก แซ่ตัน) ต้นสกุล "โชติกพุกกณะ") ได้มีศรัทธาเข้ามาบูรณะปฏิสังขรณ์วัดปก หรือวัดนาคปรก จากการชักชวนจากพระยาโชฏึกราชเศรษฐี (จ๋อง ต้นสกุลอิงคานนท์) ซึ่งเป็นผู้บูรณะวัดนางชีโชติการาม
เพราะความที่เป็นผู้มีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา และความกตัญญูต่อแผ่นดินไทยที่ได้อาศัยทำการค้าขายจนมั่งคั่ง ท่านพระยาโชฏึกราชเศรษฐี (พุก) จึงได้เริ่มบูรณะวัดปก ตั้งแต่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๓ ต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๔ ท่านได้เริ่มบูรณะอุโบสถก่อน โดยลักษณะพิเศษของอุโบสถนั้น เป็นอาคารที่มีลักษณะโค้งแอ่นคล้ายท้องเรือสำเภาจีน เป็นสถาปัตยกรรมไทยผสมผสาน ภายในอุโบสถ เป็นภาพวาดจิตรกรรมจีน ซึ่งได้ว่าจ้างจิตกรฝีมือดีจากเมืองจีนเขียนภาพจิตรกรรมลงบนฝาผนังด้านบนโดยรอบทั้ง ๔ ด้าน จัดเรียงเป็นช่อง ๆ แสดงถึงเครื่องมงคลสำหรับบูชาทางพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ตามความเชื่อของชาวจีนแต่โบราณ ซึ่งถือได้ว่าภาพจิตรกรรมจีนโบราณบนฝาผนังอุโบสถวัดนาคปรก เป็นภาพจิตรกรรมที่สวยงามตามแบบฉบับดั้งเดิม และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร
ทั้งนี้ เราสามารถทราบปีที่บูรณะแล้วเสร็จได้อย่างแน่ชัด จากตัวอักษรภาษาจีนในภาพจิตรกรรมซึ่งอยู่บนบานประตูภายในด้านหน้า ด้านขวาพระหัตถ์ของพระประธาน ได้ระบุถึงปีที่เขียนภาพ อ่านได้ว่า “ปี ติง เว่ย” ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัชกาลที่ ๓ ทรงครองราชย์
นอกจากนี้ ท่านพระยาโชฏึกราชเศรษฐี (เจ้าสัวพุก แซ่ตัน) ยังได้อัญเชิญ พระพุทธรูปสัมฤทธิ์สมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย มีพระพุทธลักษณะที่งดงาม อายุเก่าแก่กว่า ๗๐๐ ปี (นับจากปัจจุบัน) จำนวน ๒ องค์ นำมาประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถ เพื่อทดแทนพระประธานองค์เดิมซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นและมีสภาพชำรุดทรุดโทรม พระพุทธรูปองค์ปัจจุบันนี้ เป็นที่รู้จักกันในนามว่า “หลวงพ่อเจ้าสัว”
ส่วนอีกองค์หนึ่ง ประดิษฐานไว้เป็นพระประธานในวิหาร ซึ่งมีลักษณะเป็นอาคารสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ ได้รับการบูรณะต่อจากอุโบสถ และภายในวิหารได้ให้ช่างจิตรกรฝีมือดีเขียนภาพจิตรกรรมไทยบนฝาผนังเช่นกัน โดยด้านหลังเป็นภาพการเสด็จดำเนินลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลังการแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา ส่วนด้านหน้าเป็นภาพเรื่องราวการชนะพญามารและเสนามารก่อนการตรัสรู้ พระประธานองค์นี้ ท่านพระยาโชฏึกราชเศรษฐีได้สร้างพญานาคปรกขึ้นครอบไว้ มีขนดกายม้วนขึ้นซ้อนกัน ๔ ชั้น มีเศียร ๗ เศียร แผ่พังพาน โดยสร้างด้วยปูนปั้นและมีแกนโครงสร้างเป็นไม้ตะเคียน ปูนปั้นทำสีประดับลายกระจก พระประธานองค์นี้จึงได้รับการเรียกขานนามกันว่า “หลวงพ่อนาคปรก” และการเรียกชื่อวัดปรกจึงได้กลายมาเป็นชื่อ “วัดนาคปรก” นับแต่จากนั้นเป็นต้นมา
พระนาคปรกในวิหารวัดนาคปรกแห่งนี้ ถือได้ว่าเป็นพระนาคปรกแห่งเดียวที่องค์พระพุทธรูปเป็นปางมารวิชัย ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นพระพุทธรูปปางนั่งสมาธิ และถือได้ว่าเป็นพระนาคปรกที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร อีกทั้งยังเป็นที่เชื่อกันว่า พระยาโชฏึกราชเศรษฐี หรือ พระบริบูรณ์ธนากร หรือ ท่านเจ้าสัวพุก ได้บูรณะอุโบสถเพื่อเป็นอนุสรณ์ความดีงามแก่ตนเอง และบูรณะวิหารเพื่อเป็นอนุสรณ์ความดีงามแก่ภรรยาผู้เป็นที่รัก ด้วยความศรัทธาเลื่อมใสพระพุทธศาสนาและความกตัญญูต่อแผ่นดินไทย จึงถือได้ว่าอุโบสถและวิิหารแห่งนี้ เป็นอนุสรณ์สถานแห่งความรัก ความศรัทธา และความกตัญญูต่อแผ่นดิน ให้สาธุชนทั้งหลายได้พึ่งระลึกถึงโดยทั่วกัน